วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

กรณีศึกษา "น.ส.เอ"


กรณีศึกษา “น.ส.เอ”
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถึงสถานการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับเว็บไซต์เฟชบุ๊กในเมืองไทยว่า มีคนไทยกว่า 3 แสนคนเข้าร่วมสนับสนุนเว็บเพจ “มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ น.ส.เอ” หลังจากเกิดเหตุเด็กหญิงวัยรุ่นรายหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย
บางความเห็นในเว็บเพจดังกล่าวระบุว่า “ขอให้เธอไม่มีความสุขตลอดไป”, “สิ่งเดียวที่สามารถชดใช้ให้กับความตายของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย มีสิ่งเดียว นั่นคือเธอต้องตายตกตามพวกเขาไปเท่านั้น” และ “คุณยังเป็นคนอยู่หรือเปล่า?”
มีผู้แสดงความคิดเห็นรายหนึ่งกล่าวข่มขู่ว่าจะข่มขืนเธอ หากว่าเขาพบเห็นเธอ
เอเอฟพีรายงานด้วยว่า เด็กสาววัย 16 ปี จากครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีนามสกุลอันบ่งบอกถึงความมีอำนาจในสังคมไทย ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทจนทำให้มีผู้เสียชีวิต และขับรถโดยปราศจากใบขับขี่ หลังจากที่เธอขับรถยนต์พุ่งชนเข้ากับรถตู้โดยสารที่มีผู้โดยสารเต็มคันบนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อเดือนที่ผ่านมา
หลังจากนั้นไม่นาน ภาพถ่ายของเธอที่กำลังยืนพิงขอบถนน และใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อ แบล๊กเบอร์รี่อยู่ข้างซากรถของเธอเอง ขณะที่ผู้บาดเจ็บหลายรายนอนร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวดห่างไปไม่ไกลนัก และอีกหลายคนไร้ลมหายใจอยู่เบื้องล่าง ก็ถูกเผยแพร่ออกไป
กลุ่มผู้ที่ไม่พอใจต่างแสดงความคิดเห็นต่อภาพดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ตอย่างเผ็ดร้อนโดยกล่าวหาว่าเธอ “แชต” อยู่กับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน ทั้งที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
มีการขุดคุ้ยภาพถ่าย ประวัติส่วนตัว ขึ้นมาเปิดเผยและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หรือแม้แต่การปั้น – แต่ง เรื่องราว สถานการณ์ “สมมุติ” กระทั่งไม่สามารถแยกได้ว่าสิ่งใดคือ “ความจริง” หรือ “การใส่ความ”
ขณะที่สาเหตุที่แท้จริงของความเศร้าสลดครั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด การแสดงความเห็นอย่างรุนแรงทางเว็บไซด์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ตลอดจนเว็บบอร์ดแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ กลับถือว่าเป็นปรากฏการณ์ของ “กลุ่มผู้เกลียดชัง” ทางออนไลน์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน
ตามข้อมูลเว็บไซด์โซเชียลเบเกอร์สดอทคอม สมาชิกเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ “เฟชบุ๊ก” ในประเทศไทยมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 7.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 11% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
กระแสความเฟื่องฟูดังกล่าวเกิดขึ้นนับตั้งแต่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม ของปีที่ผ่านมา
เอเอฟพีให้รายละเอียดว่า ยุคแห่งการล่าแม่มดในเมืองพุทธเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนับตั้งแต่ยุคที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงรุ่งโรจน์
หากมีบุคคลหรือคณะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตามแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ แนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือแม้กระทั่งแสดงความเห็นใจต่อกลุ่มคนเสื้อแดง ผู้คนใน “เครือข่ายทางสังคมจัดตั้ง” จะส่งผ่านความเคียดแค้นพยาบาท ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเนื้อหาเต็มไปด้วยความเกลียดชังหรือสายโทรศัพท์ ไปยังผู้รับโดยตรง
กระทั่งในยุคที่กลุ่มคนเสื้อแดงยกพลบุกเมืองหลวง ก่อให้เกิดสิ่งที่คนบางกลุ่มเรียกว่า “ความเดือดร้อนรำคาญอย่างแสนสาหัสในการดำเนินชีวิต” กลุ่มผู้ล่าแม่มดจึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้งอย่างไม่ต้องนัดหมาย แต่ครั้งนี้มาพร้อมกับกลุ่มนักล่าที่ใหญ่และเหี้ยมโหดพร้อมทั้ง “เครื่องมือ” ที่ทันสมัยกว่าเดิม
หนึ่งในกลุ่มผู้ล่า ได้สถาปนาตนเองขึ้นในนาม “ขบวนการลงทัณฑ์ทางสังคม” ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกล่า ทุกคนจะได้รับข้อหาที่คล้ายคลึงกัน คือการไม่มีความจงรักภักดี สมาชิกทั้งหลายมีความกระตือรือร้นมากในการเสาะแสวงหาผู้คิดต่างเอามา “เสียบประจาน” กลางที่โล่งแจ้งในโลกไซเบอร์ พร้อมทั้งถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียดยิบ
หรือแม้กระทั่งการถูกสมาชิกในกลุ่มตามราวีในโลกแห่งความเป็นจริง

ข้อความบางส่วนจาก “มติชน สุดสัปดาห์ หน้า 12 เรื่อง “เอเอฟพี ยกกรณี ‘น.ส.เอ’ เทียบเคียงการล่าแม่มดทั่ว ‘เอเชีย’ ชี้อาจถึง ‘ยุคมืด’ อินเตอร์เน็ต”

คำถาม
- นักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ กับการใช้เทคโนโลยีในการตัดสินการกระทำของแต่ละบุคคล (อธิบายเหตุผลประกอบ)
o หากนักศึกษาเห็นด้วย แสดงความคิดเห็นว่าอนาคตการใช้เทคโนโลยีแบบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
o หากนักศึกษาไม่เห็นด้วย แสดงความคิดเห็นถึงวิธีการแก้ไขปัญหาการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว






1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะใช้เทคโนโลยีตัดสินให้คนผิดหรือถูกต้องมีการไต่สวนสอบถามก่อนแค่เพียงเห็นรูปภาพหรือการพูดปากต่อปากเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นการไม่ได้เพราะเทคโนโลยีมรความรวดเร็วและผู้เข้าใช้เป็นจำนวนมาก การแก้ไขคือคนที่รับข้อมูลทางอินเทอเน็ตควรวิเคราะห์ข้อมูลก่อนที่จะตัดสินว่าเป็นจริงหรือเท็จ

    ตอบลบ